สารบัญ
บทความที่เกี่ยวข้อง
การสอนลูกให้ฉลาดกิน (Teaching children to eat smart) หมายถึง การจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารที่เมื่อรับประทานแล้วจะส่งผลต่อการการทำงานของระบบประสาทและการรับรู้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้กระบวนการทำงานของสมองเกี่ยวกับการคิด จินตนาการ การตัดสินใจ การใช้เหตุผล และการแก้ปัญหาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สารอาหารสำคัญที่บำรุงสมองจะพบได้ในอาหารประเภทปลา ปลาทะเลน้ำลึก ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ข้าวโพด ถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต จมูกข้าว นม ถั่วเหลือง บรอกโคลี เป็นต้น ซึ่งมีผลต่อการควบคุมความจำและการเรียนรู้ แหล่งอาหารโปรตีน มีในเนื้อสัตว์ อาหารทะเล อัลมอนต์ เมล็ดธัญพืช กล้วย แอปเปิล อาหารเหล่านี้ทำให้ร่างกายมีความตื่นตัวกระฉับกระเฉง มีสมาธิ ไวต่อการกระตุ้นรอบตัว
เด็กวัยอนุบาล (3-5 ปี) เป็นวัยที่มีลักษณะเฉพาะของพัฒนาการทางด้านสติปัญญาคือ เป็นวัยที่สามารถใช้สัญลักษณ์แทนสิ่งของต่างๆ วัตถุและสถานที่ได้ เด็กวัยนี้จะมีพัฒนาการทางด้านสติปัญญา และการคิดสร้างสรรค์สูงมากถึงร้อยละ 80 โดยเฉพาะการคิดจินตนาการ ถือได้ว่าเป็นวัยทองของการพัฒนาด้านสมอง นอกจากเด็กจะได้รับการส่งเสริมให้มีพัฒนาการด้านสติปัญญาจากการเรียนรู้จากครู ผู้ใหญ่ และผู้เกี่ยวข้องแล้ว ปัจจัยสำคัญของการบำรุงสมองให้มีการเจริญเติบโตดีคือ การที่เด็กได้รับประทานอาหารที่มีสารอาหารเสริมสร้างสมอง และสติปัญญา ดังนั้น ครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และพ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรให้ความสำคัญต่อการให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง ถูกสุขลักษณะ และได้สัดส่วนเหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย และวัยของเด็ก จึงจะทำให้เด็กได้รับการพัฒนาในทุกๆ ด้านรวมถึงพัฒนาการด้านสติปัญญาที่มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างสติปัญญา และส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศต่อไป แต่จากการศึกษาพบว่ากลุ่มวัยเด็ก ระดับเชาวน์ปัญญามีค่าเฉลี่ยลดลงจาก 91 เป็น 88 ในช่วงปี 2540 – 2552 (องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 90-110) เด็กอายุ 0-5 ปี มีพัฒนาการสมวัยที่อัตราส่วนลดลงจากร้อยละ 72.00 เหลือเพียงร้อยละ 68.0 จากการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2554) แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเพิ่มขึ้น ตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป การกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสม
ดังนั้น การบริโภคอาหารที่ดี ถูกสุขลักษณะ มีสารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ในปริมาณเพียงพอกับความต้องการของร่างกายจะช่วยให้คนเรามีพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และพัฒนาการด้านสมองหรือสติปัญญาดีด้วย นอกจากนี้ผลการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการบริโภคอาหารเช้ากับการเรียนในประเทศเปรู พบว่า การวิจัยโปรแกรมอาหารเช้าด้วยความร่วมมือกับภาครัฐ โดยจัดให้มีโปรแกรมอาหารเช้าในโรงเรียนเพื่อเป็นการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่ยากจนในชนบท โดยแบ่งเป็น 2 โปรแกรมคือ ไม่มีอาหารเช้าที่โรงเรียนโดยให้บริโภคมาจากที่บ้าน และโปรแกรมที่มีอาหารเช้าที่โรงเรียน โดยโปรแกรมอาหารเช้าที่โรงเรียนช้ากว่า 1 ชั่วโมง พบว่าโปรแกรมอาหารเช้าที่โรงเรียนจัดทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางเรียนดีกว่า หรือมีผลกระทบทางบวกต่อการศึกษา เช่น การเข้าเรียนความจำในระยะสั้น การเรียนคณิตศาสตร์ และการอ่านอย่างเข้าใจ ดีกว่าโปรแกรมที่ไม่มีอาหารเช้า ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้จึงทำให้รู้ว่าอาหารในแต่ละมื้อมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างสุขภาพของคนโดยรวมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาสมองที่มีผลต่อการพัฒนาด้านการคิดและสติปัญญา
เด็กจะได้รับประทานอาหารอย่างหลากหลาย และมีสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการบำรุงสมองที่เสริมสร้างความสามารถทางด้านสติปัญญา โดยเฉพาะอาหารประเภทปลาที่มีสารอาหารโอเมกา 3 ที่มีส่วนช่วยในการบำรุงสมองให้แก่เด็ก โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึกจะมีโอเมกา 3 ในปริมาณที่เพียงพอกับการบำรุงสมอง นอกจากนี้ เด็กยังได้เรียนรู้ที่จะเลือกอาหารทั้งประเภทผักและผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อการเสริมสร้างการเจริญเติบโตของสมอง เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ถั่ว บรอกโคลี ฯลฯ
เด็กปฐมวัยเรียนรู้ได้ดีจากการได้รับประสบการณ์ตรงที่เป็นรูปธรรม จากการได้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองอย่างมีความหมาย รูปแบบการจัดกิจกรรมการสอนลูกให้ฉลาดกินจึงเป็นการบูรณาการเนื้อหาให้เข้ากับการจัดกิจกรรมตามตารางกิจกรรมประจำวันในระดับอนุบาล โดยครูอาจจัดกิจกรรมบูรณาการให้เหมาะสมได้ เช่น การเรียนรู้หน่วยเกี่ยวกับอาหาร ผัก ผลไม้ หน่วยสัตว์ เช่น การเรียนรู้หน่วยสัตว์น้ำอาจจะจัดกิจกรรมให้เด็กเรียนรู้ว่าปลาเป็นสัตว์น้ำที่อยู่ในทะเล ปลาแซลมอน มีประโยชน์มีสารโอเมกา 3 ช่วยในการบำรุงสมอง เรียนรู้หน่วยผัก อาจจัดกิจกรรมการผัดบรอกโคลี่กับกุ้ง เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าบรอกโคลี่มีประโยชน์ในการบำรุงสมอง เป็นต้น หรือครูอาจจัดมุมประสบการณ์ต่างๆ ที่มีสื่อเกี่ยวกับอาหารไว้ในมุมนั้นๆ เช่น มุมวิทยาศาสตร์ มุมหนังสือที่วางหนังสือให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารให้เด็กได้หยิบเปิดอ่าน
อาหารมีความสำคัญและจำเป็นต่อการบำรุงสมองเพื่อเสริมสร้างความเจริญทางด้านสติปัญญาให้แก่เด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นบุคคลที่ให้การอบรมเลี้ยงดูและส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในด่านต่างๆ ให้แก่เด็กได้ ดังนั้น การสอนลูกให้ฉลาดกินนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถจัดประสบการณ์ได้ใน 2 ลักษณะ คือ
ผลการประเมินพัฒนาการนักเรียนอนุบาลที่จบหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพบว่า พัฒนาการด้านสติปัญญาเป็นพัฒนาการที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดเมื่อเทียบกับพัฒนาการด้านอื่นๆ ดังนั้น ครูปฐมวัยจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาสติปัญญาให้แก่เด็กปฐมวัย เพราะนอกจากเด็กจะได้รับการพัฒนาด้านสติปัญญาโดยการจัดประสบการณ์แล้ว การสอนให้เด็กรับประทานอาหารที่มีคุณค่าต่อการเสริมสร้างสมองก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้สมองเด็กได้รับการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมเด็กในระยะเริ่มต้นนี้ จะส่งผลดีต่อภาพรวมของการพัฒนาด้านสติปัญญาสำหรับเด็กในช่วงวัยต่อไป และส่งผลต่อการเพิ่มคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้แก่เด็กในระดับต่างๆ ที่เป็นภาพรวมของประเทศอีกด้วย